หมู่บ้านเหมืองกุงเดิมมีชื่อว่า “บ้านสันดอกคำใต้” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของเชียงใหม่ มีการปั้นน้ำต้นและหม้อน้ำมานานกว่า 200 ปี
เมื่อ ความเจริญทางเทคโนโลยีเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงทำให้ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาที่เคยนิยมใส่น้ำดื่มกิน กลับกลายเป็นภาชนะอลูมิเนียม แก้วหรือพลาสติก ทำให้การสั่งผลิตน้ำต้นเริ่มน้อยลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเข้าไปทำงานรับจ้างในตัวเมืองทำให้ชาวบ้านที่ทำงาน เครื่องปั้นดินเผาเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่หลังจากที่หมู่บ้านมีการตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุ งในปี พ.ศ. 2545 และได้รับเลือกจากองค์กรพัฒนาชุมชน อ.หางดง และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ. 2548 จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและรวมตัวกันมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันมีประมาณ 22 ครัวเรือนที่ทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผาอย่างจริงจัง
จวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านเหมืองกุงที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานับวันจะเริ่มมีแต่ผู้สูงวัยเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานหัตถกรรมประเภทนี้มีจำนวนน้อยลงตามกระแสของ การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน บ้านเหมืองกุงจึงคล้ายกับต้องนับถอยหลังสู่ยุคที่เครื่องปั้นดินเผาจะหายไปจากหมู่บ้านและอาจจะเหลือแต่เพียงอดีตที่ทิ้งไว้เป็นตำนาน ดั่งคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน” ซึ่ง ตำนานนี้จะยังคงสืบสานมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลัง และการช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมของผู้ที่ยังชื่นชมความงดงามของหัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผาอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย
บ้านเหมืองกุงยังคงสืบทอดงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากบรรพบุรุษ น้ำต้นหรือคนโทเป็นงานปั้นที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ วิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเมืองกุงจะมีทั้งแบบโบราณที่ใช้แท่นหมุนมือที่เรียกว่า จ้าก และแบบประยุกต์ที่ใช้แท่นหมุนด้วยไฟฟ้า การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นเอกลักษณ์ อีกอย่างหนึ่งของที่นี่คือการเคลือบสีผิวด้วยดินแดงและขัดให้เงาด้วยหิน ส่วนลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผา จะเป็นลายใบโพธิ์คล้ายกับรูปหัวใจและลายลูกกลิ้ง ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเหมืองกุงมีทั้ง น้ำต้นแบบโบราณและมีเครื่องปั้นดินเผาที่ได้พัฒนาอีกหลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นแจกันเพื่อใช้เป็นของตกแต่ง น้ำพุน้ำล้นและโคมไฟที่ประยุกต์จากน้ำต้น