วัดน่าสนใจในตัวเมืองเชียงใหม่ (1)

มาเที่ยวเชียงใหม่ ก็ต้องมาเที่ยววัดนะสิ แต่ว่าวัดในเชียงใหม่มีอยู่เยอะแยะมากมาย วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับวัดในตัวเมืองเชียงใหม่ พร้อมทั้งแนะนำเล็กๆน้อยๆ ว่าวัดนั้นมีอะไรน่าสนใจบ้าง

               วัดเชียงมั่น ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ “พระเสตังคมณี” หรือ “พระแก้วขาว” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถ หอไตร และที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมและมีช้างล้อมที่ฐานหมายความว่าค้ำจุนพระพุทธศาสนาไว้

1

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ ๕ ในราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ในพ.ศ. ๑๘๘๘ พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง ๒๔ ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่องค์หนึ่งคือพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ตามประวัติเล่าว่าเจ้ามหาพรหมได้เชิญพระสิงห์มาจากเมืองกำแพงเพชรเพื่อถวายแด่พระเจ้าแสนเมืองมา แต่พอราชรถมาถึงวัดมีเหตุให้ต้องอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่นี่ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน ในวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงส์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์ และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว

วัดพระสิงห์

ยังมีศิลปกรรมอื่น ๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา

 

วัดพวกหงษ์ ถนนสามล้าน (ในซอยตรงข้ามซอยสามล้าน ๗) ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง สิ่งที่น่าสนใจ คือ วัดนี้มีเจดีย์โบราณซึ่งพบว่ามีเพียงสามวัดในเชียงใหม่ คือ วัดพวกหงษ์ วัดร่ำเปิง และวัดเจดีย์ปล่อง มีลักษณะเป็นทรงกลม ก่ออิฐถือปูนฐานเป็นสี่เหลี่ยมหนึ่งชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานทรงกลมสามชั้น และมีองค์เจดีย์เป็นทรงกลมซ้อนกัน ๗ ชั้นจากใหญ่ไปหาเล็ก โดยรอบเป็นซุ้มพระพุทธรูปรวม ๕๒ ซุ้ม ตามประวัติเจดีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๐ สมัยพระเจ้ายอดเชียงราย และได้รับการบูรณะสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. ๒๓๖๔ นอกจากนี้ที่วัดยังเก็บรักษาคัมภีร์ธรรมเก่าแก่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี และ มูลศาสนา

วัดพวงหง

วัดปราสาท ถนนอินทวโรรส ซอย ๓ อำเภอเมือง ใกล้กับวัดพระสิงห์ จากวัดพระสิงห์สามารถเดินไปได้ใช้เวลา ๑๐ นาที จุดเด่น คือ วิหารซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม ที่หน้าบันวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจกสี และไม้แกะสลักรูปสิงห์ฝีมือประณีต ซุ้มปราสาทที่ประดิษฐานพระประธานเป็นศิลปะล้านนาโบราณที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง

วัดปราสาท 2_1436521553

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ถนนพระปกเกล้า วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๕๔) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๔ และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.๒๐๑๑-๒๐๙๑ นานถึง ๘๐ ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๘ ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ ๔๐.๘ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๖๐ เมตร

วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๑ หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ

jdeel

และในวัดเจีดย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็ก ๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง

วัดพันเตา ถนนพระปกเกล้า ติดกับวัดเจดีย์หลวง วิหารเดิมเป็นหอคำหรือท้องพระโรงหน้าของพระเจ้ามโหตรประเทศ เป็นอาคารเครื่องไม้แบบพื้นเมือง ซุ้มประตูประดับไม้แกะสลักรูปนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งมองดูวิจิตรและสง่างาม

วัดพันเตา

 

ขอขอบคุณเนื้อเรื่องจาก ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

รูปภาพจาก tourismthailand.org and wikimedia